รีวิวหนังสือ - เลี้ยงลูกอย่างไรให้ได้ EF


ชื่อหนังสือ 
เลี้ยงลูกอย่างไรให้ได้ EF

ชื่อผู้เขียนหนังสือ
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

สำนักพิมพ์
แพรวเพื่อนเด็ก

เนื้อหา 170 หน้า
ราคา 165 บาท 

ในปัจจุบันการศึกษาระดับปฐมวัยต่างพูดถึงเรื่องของ EF หรือ Executive Fuctions กันอย่างแพร่หลาย พ่อแม่ผู้ปกครองยุคใหม่ต่างให้ความสนใจในเรื่องการพัฒนา EF ของลูกน้อย ใครที่ได้อ่านมาบ้างก็จะพอเข้าใจว่า EF คือการพัฒนาสมองส่วนหน้าเพื่อทักษะควบคุมอารมณ์ความคิด ซึ่งระยะเวลาที่พัฒนาได้ดีที่สุดคือช่วงวัยอนุบาล จึงนับว่า EF เป็นเทรนด์ที่สำคัญสำหรับการเลี้ยงดูบุตรหลานและการจัดการศึกษาในระดับปฐมวัย ณ ช่วงเวลานี้

หนังสือ "เลี้ยงลูกอย่างไรให้ได้ EF" เล่มนี้ เขียนโดยนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จึงเหมาะสำหรับผู้ปกครองและนักการศึกษาที่ควรหามาอ่านเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากคุณหมอได้สรุปเนื้อหาจากบทความทางวิชาการต่าง ๆ มาซอยย่อยเหมือกับเรื่องเล่าเพื่อให้เข้าถึงผู้ปกครองรวมถึงครูและนักการศึกษาด้วยภาษาที่ง่ายขึ้น

รู้จักกับผู้ขียน

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เป็นจิตแพทย์และนักเขียนชื่อดัง โดยเฉพาะพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น คุณหมอจบการศึกษาจาก โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จากนั้นศึกษาต่อ ณ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ จบวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา อดีตจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จังหวัดเชียงราย

เนื้อหาภายในหนังสือ 

ภายในเล่มประกอบด้วย 28 บท ซึ่งบทหนึ่งก็ประมาณ 3 - 4 หน้าโดยเฉลี่ย มีรูปภาพแทรกประกอบในแต่ละเนื้อหา หรือ สรุปใจความสำคัญให้กับผู้อ่าน บางบทนั้นคุณหมอก็ได้ซอยย่อยเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจทีละประเด็น ๆ ไป ซึ่งมีดังต่อไปนี้

  1. ทำไมเด็กคนหนึ่งถึงไปได้ดีกว่าเด็กอีกคนหนึ่ง
  2. ความไว้วางใจสร้างตัวตน
  3. สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าแม่
  4. กระบวนการสร้างตัวตนของเด็ก
  5. EF คืออะไร
  6. เป้าหมายที่หายไป
  7. การทำงานสร้างเป้าหมาย
  8. EF กับเป้าหมายระยะยาว
  9. EF ที่ดีเป็นอย่างไร
  10. ดูแลตัวเองได้
  11. เอาตัวรอดได้
  12. มีอนาคตที่ดี
  13. EF เกิดขึ้นได้อย่างไร
  14. การก่อร่าง EF มีเวลาของมัน
  15. กองบัญชาการชีวิตอยู่ที่สมองส่วนหน้า
  16. องค์ประกอบของ EF 1: การควบคุมตนเอง
  17. องค์ประกอบของ EF 2: ความจำใช้งาน
  18. กำหนดเป้าหมายแล้วปีนให้สูง
  19. องค์ประกอบของ EF 3: การคิดวิเคราะห์อย่างยืดหยุ่น
  20. กระบวนการเรียนรู้สำคัญกว่าความรู้
  21. ทักษะศตวรรษที่ 21 - ทักษะการเรียนรู้
  22. ทักษะศตวรรษที่ 21 - ทักษะชีวิต
  23. ทักษะศตวรรษที่ 21 - ทักษะไอที
  24. วิชาอนาคต
  25. กระบวนการเรียนรู้แบบใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐาน (PBL: Problem Based Learning) 
  26. การทบทวนหลังปฏิบัติการ (AAR: After Action Review) 
  27. การประชุมครูที่เน้นนักเรียนเป็นศูยน์กลาง (PLC: Professional Learning Community) 
  28. บันได 7 ขั้นจาก EF สู่ทักษะศตวรรษที่ 21

ความคิดเห็นหลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบ

ภายในหนังสือ แรกเริ่มคุณหมอจะกล่าวถึงความสำคัญของ EF ที่ส่งผลต่อชีวิตคนเราเมื่อเติบใหญ่ขึ้น เทียบนิสัยระหว่างคนที่มีกับคนที่ขาด EF และสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาของวัยรุ่นนั้น อาจจะเกิดจากการขาด EF ที่ดีในวัยเด็กก็เป็นได้ 

ในหนังสือกล่าวว่า ผู้ปกครองมีเวลาตั้งแต่เด็กอายุ 2 - 7 ขวบ ในการพัฒนารากฐานของ EF ได้ดีที่สุด แต่ก่อนที่จะไปเรื่อง EF ให้เริ่มต้นด้วยการเลี้ยงลูกให้เขามีตัวตน (self) ที่ชัดเจนและแข็งแรงภายในช่วง 3 ขวบปีแรก โดยคุณหมอได้แบ่งเป็น timeline ของการพัฒนาควบคู่กับความสัมพันธ์ของแม่และลูกในช่วงนี้อีกด้วย เนื่องจาก self มีความเกี่ยวพันกับ EF เป็นอย่างมาก และ EF นั้นเองก็เป็นบันไดของทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ในอนาคตของพวกเขาอีกด้วย

ในหนังสือให้คำนิยามของ EF คือ ความสามารถของสมองและจิตใจที่ใช้ในการควบคุมความคิด อารมณ์ และ การกระทำเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย (อ้างอิงจากคำนิยามที่เขียนโดย ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร) โดยคุณหมอให้คำสำคัญ 5 คำคือ สมอง ความคิด อารมณ์ การกระทำ และ เป้าหมาย คุณหมอยังได้กล่าวว่า สมองดี ส่งผลให้สร้าง EF ดี เด็กพิเศษก็สามารถใช้ EF ในการพัฒนาสมองที่ดีได้ ซึ่งคำว่าสมองดีนั้นไม่ได้หมายถึงคนที่เรียนดีเกรด 4 

คุณหมอมุ่งเน้นความสำคัญของคำว่า เป้าหมาย เพราะถ้าเป้าหมายหาย EF ก็หาย! บทต่อมาจึงนำเสนอการฝึกให้เด็กกำหนดเป้าหมายด้วยการเล่นหรือการทำงาน เพื่อสร้างพื้นฐาน EF ทั้งเป้าหมายระยะสั้น และ เป้าหมายระยะยาว อย่างเช่น เล่นการเล่นต่อบล็อกไม้ เมื่อเด็กเริ่มเล่นก็จะมีการสร้างเป้าหมายในการต่อบล็อก ถ้าหาว่าบล็อกไม้ที่ต่อพัง เด็กก็จะสร้างเป้าหมายใหม่ เล่นใหม่ แบบนี้วนไป สมองส่วนหน้าก็จะเติบโตและพัฒนา โดยเป้าหมายนั้นมาพร้อมกับการกำหนดเวลาด้วย  

EF ที่ดีประกอบด้วย ดูแลตัวเองได้ เอาตัวรอดได้ และ มีอนาตที่ใช้ได้ 

ดูแลตัวเองได้ เริ่มตั้งแต่ดูแลจัดการตัวเองได้ จากนั้นดูแลรอบข้างกายตัวเองอย่างเช่นเก็บของเล่น ต่อมาก็เป็นการดูแลบ้านเช่น ทำงานบ้านช่วยพ่อแม่ และ สุดท้ายคือออกนอกบ้าน คือการทำตามกติกาของสังคมเป็นต้น 

เอาตัวรอดได้ เสริมด้วยการให้เด็กทำอะไรที่ยาก ๆ ซับซ้อนได้ คำสำคัญของบทนี้คือ Delayed Gratification คือ ความรู้สึกอดทนต่อความลำบากก่อนที่จะสบายทีหลัง เช่น การอ่านหนังสือ ทำงานยาก ๆ ให้สำเร็จ หรือ การเล่นที่ท้าทายและใช้เวลา ส่งผลให้เด็กไม่เร็วต่อความรู้สึกทางอารมณ์ที่จะนำไปสู่การตัดสินใจที่ขาดเหตุผลได้ 

มีอนาคตที่ดี กลับไปที่เรื่องของเด็กเมื่อมีความสามารถตั้งเป้าหมายเป็น โตขึ้นก็จะใช้ทักษะนั้นเพื่อตั้งเป้าหมายอนาคตของตนเอง เมื่อเห็นอนาคตแล้วก็วางแผน ลงมือทำ มีความยืดหยุ่น คือ สามารถปรับแผนใหม่ได้ผลที่ได้ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็จะรับผิดชอบต่อการตัดสินใจและกระทำนั้น ไม่โทษใคร ปรับแผนแล้วลงมือทำใหม่

EF เกิดขึ้นได้อย่างไร ที่สรุปได้จากหนังสือคือ เกิดจากการลงมือทำในสิ่งที่ท้าทายและที่ต้องใช้ความคิดวิเคราะห์ คุณหมอได้พูดถึงการเรียนการสอนแบบ Active Learning และ Problem Based Learning หรือ PBL แต่ก็สามารถทำได้ง่าย ๆ ที่บ้านด้วยการให้ลูก ทำงานบ้าน - เล่นจริง ๆ - ทำการบ้าน ภายในระยะเวลาที่กำหนด แค่นี้ก็เกิด EF แล้ว

ประเด็นต่อมาคุณหมอพูดถึงองค์ประกอบของ EF ซึ่งประกอบด้วย 1.การควบคุมตนเอง 2.ความจำใช้งาน และ 3.การคิดวิเคราะห์อย่างยืดหยุ่น โดยคุณหมอได้ให้ตัวอย่างการเล่นของเด็กที่หลากหลาย โดยเฉพาะ "การปีนสูง" จะเห็นภาพที่สุด คือเด็กจะเจอความท้าทายแล้วตั้งเป้าหมายเพื่อให้ไปถึง จากนั้นก็ลงมือทำคือปีนขึ้นไป แล้ว focus ไม่วอกแวกแม้จะยากขึ้น จนถึงเป้าหมายในที่สุด คุณหมอได้เพิ่มเติมเรื่องของการจัดการศึกษาและกิจกรรมเสริมประสบการณ์ที่ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการในองค์ประกอบดังกล่าวอีกด้วย 

นอกเหนือจากนั้นคุณหมอนำเสนอทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วย ทักษะเรียนรู้ ทักษะชีวิต และ ทักษะไอที และปรับแนวคิดการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยสำหรับโรงเรียนและครูผู้สอนด้วย PBL การถามคำถามชวนคิดอย่างไร และ AAR (After Action Review) รวมถึงแนวทางการใช้ PLC (Professional Learning Community) ของโรงเรียนที่ควรเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง มีประโยคที่ครูโจโจ้ชอบที่คุณหมอเขียนไว้มาก ๆ นั่นคือ "โรงเรียนสมัยใหม่ควรรับผิดชอบต่อพ่อแม่และชุมชน ผู้อำนวยการ ครูใหญ่ รับผิดรับชอบกับชุมชน มิใช่รับผิดรับชอบต่อเจ้ากระทรวงหรือปลัดกระทรวง" จากนั้นคุณหมอได้สรุปทิ้งท้ายในเรื่องของบันได 7 ขั้นจาก EF สู่ทักษะศวรรษที่ 21 เป็นช่วงเวลาของวัยเด็ก ซึ่งคุณหมอสรุปให้เห็นภาพง่าย ๆ ว่าบันได 7 ขั้นคือ อ่านนิทาน - เล่นด้วยกัน - ทำงานบ้าน ก็จะได้เอง โดยในรายละเอียดต่าง ๆ นั้น ครูโจโจ้แนะนำให้ซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่านจะดีที่สุดครับ

หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ปกครองที่ดูแลบุตรหลานที่กำลังเข้าสู่ในวัยอนุบาล (จริง ๆ แล้วเล่มนี้พูดถึงก่อนวัยอนุบาลเสียด้วยซ้ำ) หลายท่านที่ยังไม่รู้จัก EF แนะนำให้อ่านเล่มนี้ซึ่งให้นิยามที่เข้าใจง่าย มีทฤษฏีการทำงานของสมองประกอบด้วย เพื่อให้เข้าถึงผู้ปกครองทุกคน และเหมาะสำหรับครูระดับปฐมวัย ผู้บริหารโรงเรียนอนุบาล เพื่อที่จัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์หรือหลักสูตรที่เอื้อต่อการสร้างเสริม EF  ให้ดีที่สุด ในช่วงเวลาที่ดีที่สุดครับ

ครูโจโจ้
***************************************
🧡 ฝากกดติดตามได้ที่ด้านบนของ 
Blogger www.krujojotalk.com ด้วยนะครับ
***************************************
ติดต่อ & ติดตามช่องทางอื่นๆ ได้ที่ 
💙Facebook 
💗YouTube 
✍สนใจเรียนภาษาอังกฤษ online ได้ที่ 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Sport Day หรือ Sports Day?

Organizing : Topic, Supporting และ Concluding Sentences

Special Days in Thailand : วันหยุดของไทย ภาษาอังกฤษ