ความคิดเห็นเรื่องระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563

รูปครูโจโจ้สมัยเป็นเด็กอนุบาล

นับว่าเป็นข่าวที่กำลังเป็นกระแสทีเดียว เมื่อในวันที่ 1 พ.ค. 2563 ราชกิจานุเบกษาเผยแพร่ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 โดยกล่าวว่า "โดยที่เป็นการสมควรกำหนดข้อปฏิบัติและข้อห้ามปฏิบัติในการไว้ทรงผมของนักเรียนเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการของสถานศึกษา มีความเหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบันและการปฏิบัติตนของนักเรียนเป็นไปด้วยความถูกต้อง รวมทั้งเป็นการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" รายละเอียดอ่านได้ที่  ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563

แท้จริงแล้ว เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เคยเป็นกระแสมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ. 2556 (7 ปีที่แล้ว) ทาง ศธ. เคยแจ้งให้โรงเรียนเลิกบังคับตัดผมเกรียน-บ๊อบติ่งหู เพราะทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ได้ย้ำว่าทรงนักเรียนต้องยึดกฎกระทรวงฉบับที่ 2 วันที่ 6 มี.ค. พ.ศ. 2518 ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่า 1.นักเรียนชายให้ตัดผมหรือไว้ผมยาวจนด้านข้างและข้างหลังยาวเลยตีนผม และ 2. นักเรียนหญิงให้ตัดผมหรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดอนุญาตให้ไว้ยาวเกินกว่านั้นก็ให้รวบให้เรียบร้อย อ่านรายละเอียดได้ที่ ขอความเข้าใจเกี่ยวกับทรงผมของนักเรียน

แต่ปราฏกว่าโรงเรียนหรือสถานศึกษาหลายแห่งนั้นกลับยึดฉบับที่ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 132 ลงวันที่ 22 เม.ย. 2515 คือ กฏกระทรวงฉบับที่ 1 พ.ศ. 2515 ซึ่งระบุห้ามไม่ให้นักเรียนชายไว้ผมข้างหน้าและกลางศีรษะยาวเกิน 5 เซนติเมตร และชายผมรอบศีรษะต้องตัดเกรียนชิดผิวหนัง และ 2.นักเรียนหญิงตัดผมหรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดอนุญาตให้ไว้ยาวเกินกว่านั้นก็ให้รวบให้เรียบร้อย

ซึ่งมีกฏกระทรวงดังกล่าวได้รับการแก้ไขแล้วในปี พ.ศ. 2518 แต่กลับปฏิบัติในปี พ.ศ. 2515 จนถึงปัจจุบัน นับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และในวันนี้ "ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ. ๒๕๖๓" ก็ได้กลับมาฮือฮาอีกครั้งพร้อมทั้งเพิ่มเติม "ด้านหน้าและด้านกลางศรีษะให้เป็นไปตามความเหมาะสม" สำหรับนักเรียนชาย ส่วนนักเรียนหญิงนั้นยังคงตามกฏกระทรวงปี พ.ศ 2518

ในความคิดเห็นส่วนตัว ผมสนับสนุนต่อการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามที่ราชกิจานุเบกษาได้เผยแพร่ เรื่องของการบังคับให้นักเรียนตัดผมเกรียนนั้นควรจะเป็นสิทธิ มากกว่าข้อบังคับ การที่ผมได้เห็นข่าวครูไถผมนักเรียนชายให้เป็นหมายอันน่าอับอาย ซึ่งเป็นการทำเพื่อลงโทษนั้นผมย่อมไม่เห็นด้วย รวมถึงข่าวที่ครูนำกรรไกรตัดผมนักเรียนหญิงให้เท่ากับติ่งหูก็เช่นกัน บางสถานศึกษาเปิดเทอมวันแรกกลับต้อนรับนักเรียนด้วยการตัดผมนักเรียนที่ผิดระเบียบ มันอาจจะเป็นเรื่องสนุกในบางสังคมเพราะเด็กคุ้นชินกับการถูกริดรอนศักดิ์ศรีด้วยกระบวนการนี้ตั้งแต่เด็ก และมีอีกหลายคนในสังคมนี้มองเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ แต่ถ้าหากมองดีๆ เรื่องนี้ทำให้นักเรียนเครียดอยู่ไม่น้อย จึงพบนักเรียนหนีเรียนเพราะเลี่ยงการตรวจผม หรือวันนั้นอาจจะไม่เป็นความสุขของเขาตลอดทั้งวันก็เป็นได้ ยิ่งเจอกับมาตรฐานการตรวจผมของครูแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เช่นการใช้เพียงสายตาในการวัดความยาวของเส้นผม เป็นต้น

แม้ครูจะอ้างว่าเป็นเรื่องของระเบียบวินัย ตอนนี้ก็ต้องตกไปเพราะมันเป็นระเบียบวินัยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 แล้ว เหตุใดจึงมีครูที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ทั้งๆ ที่ไม่ถูกต้อง ในทางกลับกันโรงเรียนเอกชนบางแห่ง หรือโรงเรียนนานาชาติก็แทบไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องทรงผมเลย เหตุใดจึงมีครูบางคนที่ภาคภูมิใจกับการลงโทษนักเรียนด้วยการกล้อนผมแล้วโพสลงสื่อโซเชียลมิเดีย เพราะครูชื่นชอบในอำนาจนิยมหรือ?  การที่ครูลงโทษนักเรียนด้วยการไถผมหรือตัดผมให้ไม่เป็นทรงนั้นเป็นการทำให้เด็กเกิดความอับอาย นี่เป็นการ bully ในสถานศึกษาใช่หรือไม่?

ครูควรลดบทบาทในการจับผิดเรื่องทรงผมให้น้อยลง
เน้นเรื่องของการดูแลจิตใจเด็กให้มากขึ้นเสียดีกว่า

ครูโจโจ้

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Sport Day หรือ Sports Day?

Organizing : Topic, Supporting และ Concluding Sentences

Special Days in Thailand : วันหยุดของไทย ภาษาอังกฤษ