ยกเลิก "เกรียน" เปลี่ยนเป็น "รองทรง"

       
      นับว่าเป็นประเด็นร้อนเลยทีเดียวสำหรับการยกเลิกบังคับทรงผมเกรียนในโรงเรียนต่าง ๆ ของไทย ซึ่งประกาศโดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามกระแสไปต่างๆ นานา ทั้งเชิงลบและเชิงบวก ซึ่งก็เป็นเรื่องที่แปลกที่มีคนคัดค้านกับการประกาศปรับปรุงกฏหมายของทรงผมนักเรียนเช่นนี้ ทั้งๆ ที่มันแทบจะไม่เป็นประเด็นของการศึกษาเลยด้วยซ้ำ มันเป็นประเด็นของสิทธิที่นักเรียนสามารถเลือกทรงผมได้ แต่ก็เป็นสิทธิที่ยังคงมีขอบเขตจำกัดอยู่เช่นกัน ซึ่ง รมต.ศึกษาธิการได้กล่าว่า "ถ้าตีความตามกฎกระทรวง พ.ศ.2515 นั้น นักเรียนชายจะต้องไว้ผมด้านข้างและด้านหลังเกรียน แต่กฎกระทรวง พ.ศ.2518 เปลี่ยนแปลงให้นักเรียนชายไว้ผมรองทรงได้ ไม่ต้องตัดผมด้านข้างหรือด้านหลังจนเกรียน แต่ในทางปฏิบัติ ร.ร.ยังคงยึดติดกับทรงผมเกรียนตามกฎกระทรวง พ.ศ.2515 ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะกฎกระทรวงฉบับใหม่เปิดโอกาสให้เด็กไว้ทรงยามแบบรองทรงได้" 

ทีนี้เรามาดูกฏกระทรวงทั้ง 2 ฉบับที่ว่ากันดีกว่า (แบบย่อ) 
  • กฎกระทรวงฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๑๕) กล่าวไว้ว่าดังนี้ :
ข้อ ๑ การแต่งกาย และความประพฤติดังต่อไปนี้ถือว่าไม่เหมาะสมแก่สภาพของนักเรียน ตามความในข้อ ๔ แห่งประกาศของคณะปฏิบัติ ฉบับที่ ๑๓๒
(๑) นักเรียนชายไว้ผมยาว โดยไว้ผมข้างหน้าและกลางศีรษะยาวเกิน ๕ เซนติเมตร และชายผมรอบศีรษะไม่ตัดเกรียนชิดผิวหนัง หรือไว้หนวดหรือเครา นักเรียนหญิงตัดผมหรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดอนุญาต ให้ไว้ยาวเกินกว่านั้นก็ให้รวบให้เรียบร้อย นักเรียนใช้เครื่องสำอาง หรือสิ่งปลอมเพื่อการเสริมสวย ....


************************************

  • กฎกระทรวงฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๑๘) ซึ่งเป็นการแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าวเพิ่มเติมจนเป็น กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 มีความว่าดังนี้ : 

ให้ยกเลิกความในข้อ (๑) ของข้อ ๑ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๑๕) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๓๒ ลงวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(๑) นักเรียนชายตัดผมหรือไว้ผมยาวจนด้านข้างและด้านหลังยาวเลยตีนผม หรือไว้หนวด ไว้เครา นักเรียนหญิงตัดผมหรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดอนุญาตให้ไว้ยาวเกินกว่านั้นก็ให้รวบให้เรียบร้อย นักเรียนใช้เครื่องสำอาง หรือสิ่งปลอมเพื่อการเสริมสวย”


************************************

           จากนั้นจึงมีข้อข้องใจของคำว่า "ตีนผม" ว่าตกลงแล้วมันหมายความว่าอย่างไรกันแน่ ซึ่ง รมต.ศธ ก็ได้ได้ประชุมร่วมกับราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งได้รับคำอธิบายว่า คือผมด้านหลังที่อยู่บนคอ "เพราะฉะนั้นแสดงว่าการไถเกรียนด้านข้างไม่ใช่แน่นอน แต่ถ้าหากพูดว่า “ผมรองทรง” คือใช่แน่นอนเพราะผมจะยาวไม่เกินตีนผม" นายพงศ์เทพ เทพกาญจนากล่าว

           และได้มีคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจว่าการประกาศเรื่องของการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับแบบทรงผมของนักเรียนนั้น คือการยกเลิกทรงผมนักเรียน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและกลายเป็นการเข้าใจผิดในที่สุด แท้จริงแล้วสิ่งทียกเลิกนั้นก็คือการยกเลิก "บังคับ" แต่นักเรียนสามารถเลือกที่จะตัดทรง "เกรียน" หรือ "รองทรง" ได้สองอย่างนี้เท่านั้น พูดง่ายๆ คือนักเรียนมีสิทธิในการเลือกทรงผมเพิ่มขึ้น จากเดิมที่บังคับนักเรียนประถม - ม.ต้น ตัดทรงนักเรียน ที่เกรียนสถานเดียว !!! ซึ่งเรื่องนี้แทบจะไม่มีผลใดๆ กับนักเรียน ม.ปลาย เลย เพราะตัดรองทรงอยู่แล้ว ส่วนที่ให้เลือกไว้ผมยาวได้ก็มีแต่นักเรียนหญิงเท่านั้น ซึ่งต้องเก็บผมให้เรียบร้อย ไม่ได้หมายความว่านักเรียนชายจะสามารถไว้ผมทรงไหนก็ได้ตามอำเภอใจแบบนักศึกษามหาวิทยาลัยตามที่หลายๆ คนโวยวายกัน เหตุเพราะยังไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจเสียก่อนที่จะโวยวายกันไป ถ้าหากจะพูดถึงประเด็นในเรื่องสิทธิเสรีภาพของนักเรียน มันก็เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้นที่นักเรียนมีเสรีในการ"เลือก"ทรงผม แต่ไม่ใช่เสรีในการไว้ทรงผม เพราะยังจำกัดให้ยาวสุดแค่รองทรงเท่านั้น (ม.ปลาย ก็ยังคงดำเนินชีวิตนักเรียนตามปรกติ) ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่ที่ดุลยพินิจของสถานศึกษานั้นๆ อีกทีในการอนุญาตให้นักเรียนไว้ผมยาวได้มากกว่ารองทรง 

           ปัญหาอย่างหนึ่งที่นักเรียนไม่ได้ความยุติธรรมก็คือ สายตาของครูปกครองที่ตรวจผมของนักเรียนก็ไม่มีมาตรฐาน ไม่มีความเท่าเทียมกัน นักเรียนที่ผมหนา ผมหยักโศก แค่ยาวนิดหน่อยก็ดูเหมือนยาวจนน่าไถหัว ครูบางคนบอกไม่ยาว ครูบางคนบอกยาว แต่สุดท้ายฝ่ายที่บอกว่ายาวมักเป็นฝ่ายชนะเสมอ แม้ว่านักเรียนจะบอกว่าเพิ่งตัดมาใหม่ๆ สุดท้ายก็โดนไถหัวเป็นเส้น ครูบางคนโหดหน่อยก็ไถซะลึกจนแก้ไม่ได้ จนช่างผมก็ส่ายหัวว่าไถแบบนี้โกนดีกว่าน้อง!! เสียเวล่ำเวลานักเรียนในการหาร้านตัดผมยังไม่พอ เสียตังค์ไปปล่าวๆ ทั้งที่บางคนเพิ่งตัดมาได้ไม่นาน แบบนี้คนที่ผมเส้นเล็กบางก็ได้เปรียบ รอดตัวให้เด็กผมหนาอิจฉาเล่น 

         โดยส่วนตัวแล้วมองว่าครูปกครองควรหันไปมองเรื่องของวินัยเรื่องพฤติกรรมมากกว่าทรงผมที่เป็นเพียงแค่รูปลักษณ์ภายนอก เพราะในสังคมไทยในปัจจุบันคำว่า "เกรียน" นั้นกลายเป็นคำที่มีความหมายเชิงลบเชิงเสียดสี เช่น คำว่า ไอ้เกรียน หรือ เกรียนแตก เป็นต้น ซึ่งแสดงว่าเด็กที่มีทรงผมเกรียนๆ นั้นก็ก่อปัญหาให้กับสังคมไม่ใช่น้อยจึงเกิดคำนี้ขึ้นมา ถ้าเรารับข่าวสารก็จะเห็นเช่นนั้นว่าปัญหาวัยรุ่นมีมากหมายเหลือเกิน แสดงว่าทรงผมมันวัดพฤติกรรมของเด็กไม่ได้ ควรจะเน้นเรื่องของความตรงต่อเวลา ทั้งเรื่องมาเรียนหนังสือ หรือ การส่งงานเป็นต้น (ซึ่งเป็นนิสัยของคนไทยหลายคนที่เป็นปัญหาหนึ่ง) การแสดงออกต่อสาธารณะต่างๆ ใช่ว่าเกรียนแล้วจะเป็นคนดี อย่างเช่นทรงเกรียนๆ แล้วก็เอาเก้าอี้ไปฟาดหน้าคนแก่ท่ามกลางคนเดินไปเดินมา แบบไร้สำนึกแบบนี้ แล้วเราจะเข้มงวดเรื่องทรงผมกันไปใย? 

    อ้างอิงจาก

    คมชัดลึกออนไลน์ "'ศธ.'ถามราชบัณฑิตไขความหมาย'ตีนผม'" www.komchadluek.net 

    คมชัดลึกออนไลน์ "เฮ!'ศธ.'ปรับระเบียบทรงผมนร.ใหม่" www.komchadluek.net

    นวรัตน์ รามสุต และ บัลลังก์ โรหิตเสถียร "ทรงผมนักเรียน" ข่าวสำนักงานนายกรัฐมนตรี www.moe.go.th. 10 มกราคม 2556 

    ความคิดเห็น

    โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

    Sport Day หรือ Sports Day?

    Organizing : Topic, Supporting และ Concluding Sentences

    Special Days in Thailand : วันหยุดของไทย ภาษาอังกฤษ